ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กับการระบุตัวตน
ความตั้งใจแรก ที่เค้าสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา (ก็คือ Bitcoin ที่ถือได้ว่าเป็น use case แรก จาก Technology blockchain) ได้สร้างขึ้นมา ให้เป็นตลาดที่เปิดกว้าง ทุกคนในโลกสามารถเข้าใช้บริการได้ ขอมีเพียงอุปกรณ์ (เช่น computer , notebook , mobile phone ) เพื่อรัน software และ internet เชื่อมต่อเข้าใช้งานเท่านั้น และถูกออกแบบมาให้ทำงานในแบบไม่ระบุตัวตน หมายความว่า ใคร อายุเท่าไร อยู่ที่ใด ก็เข้าใช้งานได้ โดยไม่ต้องเปิดเผย หรือ แสดงตัวตนเลย นอกเหนือจากนั้น ยังทนต่อการถูกทำลาย หรือครอบงำได้โดยง่าย หากเมื่อการทำงานของ network มีการกระจายตัวที่ดีมากเพียงพอแล้วอีกด้วย
ซึ่งการที่เป็นแบบนั้น ทำให้เกิดดาบสองคมขึ้น นั่นก็คือ เราจะมีความเป็นส่วนตัว ในการใช้งาน เพราะเราไม่ต้องระบุตัวตน หรือ แจ้งว่าเราเป็นใคร ตั้งแต่ก่อน หรือ จนจบธุรกรรมไปแล้วทั้งหมดเลย เช่นเดียวกัน เราก็จะไม่รู้ด้วย ว่าเรากำลังทำธุรกรรมกับใครอยู่ อีกทั้งกระเป๋าเงินต่างๆ ก็ออกแบบมาให้เพียงพอ สำหรับการใช้งานครั้งเดียวแล้วทิ้งได้อีกด้วย (เพราะมันมีเยอะแยะมหาศาลจริงๆ) ในอีกขณะหนึ่ง ข้อเสียที่เกิดขึ้น ก็คือ การที่เราก็ไม่ทราบเช่นกัน ว่าเรากำลังใช้งานบนระบบที่ใครกำลังเป็นผู้ให้บริการอยู่ (โดยเฉพาะ กิจกรรมที่เกิดขึ้นบน DeFi) ดังนั้นหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตาม เราก็อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ รวมไปถึง เกิดการสูญเสียเงินทั้งหมดไปได้โดยง่าย (แต่สำหรับ DeFi นั้น จะมีส่วน source code ที่เป็นที่เปิดเผย เพื่อให้แสดงความโปร่งใสอยู่แล้ว แต่ว่าเราจะไม่พูดถึงในตอนนี้)
ดังนั้น เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้บริการ หลายประเทศ เช่นประเทศไทย ได้กำหนดให้มีหน่วยงานกำกับดูแล การทำธุรกรรม หรือ ธุรกิจในลักษณะนี้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
ด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการ หรือทำธุรกรรม หน่วยงานกำกับดูแล ก็ได้ออกข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นมา ก็เพื่อใช้กำกับดูแลผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีความปลอดภัยที่สูงขึ้น หน่วยงานที่กล่าวถึง ในประเทศไทย ก็คือ กลต นั่นเอง ซึ่ง กลต เป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการ เพื่อให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนด (ไม่อย่างนั้นจะมีความผิด) โดยมุ่งเน้นที่คุ้มครองความปลอดภัยในการลงทุนของผู้ที่ลงทุนเป็นหลัก
หน่วยงานกำกับ จึงได้เปลี่ยนบริษัท หรือ ผู้ให้บริการ ที่ไม่มีตัวตน หรืออาจจะไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ ให้มีตัวตน และดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยข้อมูล เอกสารหลักฐานต่างๆ อย่างเป็นทางการ ให้กับทาง กลต ได้พิจารณาก่อนที่จะให้ใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการในลำดับต่อไป
ในส่วนของผู้ใช้บริการบ้าง อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่าโดยปกติ เราจะสามารถใช้บริการใดๆ ในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยที่เราไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลของตัวเองเลย แต่ทางหน่วยงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน ก็ได้มีข้อกำหนดให้ทางผู้ให้บริการ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่มีมูลค่า (ซึ่งก็หมายรวมถึงผู้ให้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย) จำเป็นจะต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ เพื่อใช้สำหรับการระบุตัวบุคคลที่กำลังทำธุรกรรม ในแต่ละบัญชีเหล่านั้นได้
จะเห็นได้ว่า ตอนนี้ก็มีสองหน่วยงานที่เข้ามากำหนดเรื่องเหล่านี้ จึงส่งผลให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ธรรมชาติเป็นแบบไม่ระบุตัวตน ให้ต้องระบุตัวตนในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี การใช้บริการจากผู้ให้บริการรายอื่น ที่ไม่มีหน่วยงานใดๆ กำกับ ก็จะยังพบว่าไม่มีความจำเป็นที่เราต้องระบุตัวตนได้อยู่ โดยเฉพาะการใช้งานกับ DApp ต่างๆ ใน DeFi หรือว่า Exchange ต่างๆ ที่เกิดใหม่ขนาดเล็ก เพราะเค้าพยายามเลี่ยงความยุ่งยากต่อผู้ใช้บริการ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องรู้ความเสี่ยง ว่าเราก็กำลังใช้บริการกับผู้บริการที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานไหน หรือประเทศอะไรอยู่ ซึ่งหากเกิดปัญหา ก็ไม่สามารถร้องเรียนอะไรกับใครได้ เพราะเราก็ไม่รู้ตัวตนเค้าเลยนั่นเอง
อมรเดช คีรีพัฒนานนท์
กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด