Dec2023_bitcoin_re2

นี่ก็จะสิ้นปี 2023 แล้วนึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Bitcoin เลยสักครั้งเดียว ทั้งที่เป็นสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยการจะไม่พูดถึง Bitcoin นั้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่แปลกอยู่สักหน่อย ดังนั้นวันนี้จะมาพูดกันถึงเรื่อง Bitcoin แบบเจาะลึกในรายละเอียด โดยจะไม่เกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนหรือเก็งกำไรแต่อย่างใด เพื่อให้เข้าใจเนื้อแท้ของ Bitcoin นั่นเอง

ความปลอดภัย

ความปลอดภัยของ Bitcoin หมายถึงความปลอดภัยและความอุ่นใจเมื่อเราได้เป็นเจ้าของ Bitcoin และอยู่ใน Crypto wallet แบบที่เราเป็นผู้ที่รู้ Seed Word แต่เพียงผู้เดียว เพราะจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิทยาการที่สามารถไขกระเป๋าเปิดได้ โดยไม่ใช้ Seed Word หรือ Private key ของกระเป๋าใบใดได้เลย (เรียกว่าการ Crack crypto wallet) ทุกเคสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เรามักได้ยินว่า Bitcoin โดน Hack หรือกระเป๋า Crypto โดน Hack โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกระเป๋านั้นๆ หรือเป็นความผิดพลาดหรือถูกหลอกลวงโดยจงใจจากโจรไซเบอร์ ที่หลอกล่อเพื่อเอา seed word หรือ Private Key จากเจ้าของ เพื่อไปใช้ในการทำธุรกรรมโอนสินทรัพย์ออกจากกระเป๋านั้นๆ(ขโมย) ซึ่งมักจะมาในรูปแบบ Scam หรือ Phishing เป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ ที่สามารถสร้าง Bitcoin ขึ้นมาเป็นจำนวนไม่จำกัดได้ในระบบ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้ถูกปรับปรุงและแก้ไขไปแล้ว และเกิดการย้อนธุรกรรมไปเดินหน้า จากจุดที่ก่อนเกิดความผิดพลาด เพื่อปกป้องระบบให้สามารถเดินหน้าได้อย่างถูกต้อง และยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ใหญ่แบบนั้นขึ้นอีกเลย

ดังนั้น 10 กว่าปีของ Bitcoin จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวหนึ่งว่ามีความปลอดภัยและแข็งแรงดีมาก แต่อย่างไรก็ดี ก็มีข้อถกเถียงกันว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ล้ำหน้าจะสามารถไขกระเป๋าเพื่อขโมย Bitcoin ได้หรือไม่ในอนาคต ซึ่งก็ต้องตอบว่า Bitcoin ยังเป็นโครงการที่มีการพัฒนาอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าพบว่ามีจุดใดที่ดูจะมีความเสี่ยงทีมงานพัฒนาหลักของ Bitcoin ก็จะปรับปรุงระบบและอัพเกรด Network ได้โดยใช้เวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับฉันทามติโดยส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าร่วม (ซึ่งมีความกระจายตัว ดังจะอธิบายในภายหลัง) หมายความว่ามีทั้งความปลอดภัยแข็งแรงแต่ก็ยืดหยุ่นไปพร้อมกันนั่นเอง

ความเป็นส่วนตัว

การสร้าง Crypto wallet โดยต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องใช้การ KYC หรือแม้กระทั่งตั้งชื่อหรืออีเมลใดๆ ทุกกระเป๋าจะถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบของ Anonymous ทั้งหมด นั่นหมายความว่าโดยปรกติเราจะไม่สามารถรู้ได้ว่ากระเป๋านี้ใครเป็นเจ้าของ (เว้นแต่เจ้าของจะประกาศให้รู้เอง) จึงทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวนับตั้งแต่จุดแรกที่ได้เข้ามาใช้งาน และการทำธุรกรรม ก็ไม่ต้องการการแสดงตัวตนอะไรด้วยเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดีเมื่อได้ใช้งานไปสักพักหนึ่งผู้ใช้งานอาจจำเป็นต้องมีความรู้ในการทำงานเชื่อมโยงกันของแต่ละธุรกรรม เพราะในระบบการเงินปัจจุบันที่เริ่มมีการเชื่อมระบบของ bitcoin เข้ากับตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือที่เรารู้จักกันว่า Crypto Exchange มักจะมีการทำ KYC และเมื่อมีธุรกรรมที่เชื่อมโยงกัน ก็สามารถใช้ข้อมูลที่เกิดจากการ KYC นั้นเชื่อมโยงธุรกรรมไปกับกระเป๋าที่เป็น Anonymous ได้ ซึ่งอาจจะหมายความว่า มีความเป็นไปได้ในการชี้ตัวบุคคลได้ในท้ายที่สุดนั่นเอง

แม้ Bitcoin ได้ถูกออกแบบมาให้มีความเป็นส่วนตัวแล้ว แต่ระบบการเงินแบบเก่าต่างหากที่พยายามจะลดทอนความเป็นส่วนตัวนั้นลงไป ดังนั้นผู้ใช้งานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจความเชื่อมโยงในจุดนี้เพื่อยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวได้ต่อไป

การกระจายอำนาจ

ระบบของ Bitcoin นั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยเน้นที่การช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมและยืนยันธุรกรรมจากคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก โดยยิ่งมีคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาร่วมกันตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมเป็นจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะเกิดการกระจายอำนาจออกไปได้มากขึ้นเท่านั้น นี่คือระบบที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่วันแรกของ Bitcoin และยังใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรามักจะได้ยินกันในชื่อของ Proof Of Work (POW) โดยคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาร่วมกันในเครือข่ายนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรสูงก็สามารถเริ่มต้นเข้ามาตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมได้ (แต่เราจะไม่พูดถึงว่า จะได้รางวัลเป็นการตอบแทนหรือที่เรียกว่าการขุดหรือไม่ ในตรงนี้ เพราะจะเป็นคนละเรื่องกัน) หมายความว่าใครก็ได้บนโลกใบนี้ที่มีคอมพิวเตอร์สเปคไม่ต้องสูงมากและมีอินเตอร์เน็ตก็สามารถเข้ามาช่วยร่วมสร้างความแข็งแรงได้ และเมื่อเป็นแบบนี้การแทรกแซงจากหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนก็จะทำได้ยากขึ้นมาก นี่จึงเป็นหลักการการกระจายอำนาจโดยแท้จริง

แม้จะมีข้อถกเถียงว่าถ้ารัฐบาลที่มีเงินเยอะมากสามารถสร้าง Super computer เพื่อมาเข้าร่วมใน Network และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับ Bitcoin ไปในแบบที่รัฐบาลต้องการ ก็อาจจะทำให้ Bitcoin ล่มสลายไป แต่ในความเป็นจริงจะไม่เป็นแบบนั้นเพราะถ้าเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนระบบ bitcoin แบบดั้งเดิมยังคงอยู่ ก็จะเกิด Hard fork ออกเป็นเหรียญ Bitcoin โดยรัฐบาล แยกตัวจากกับ Bitcoin แบบดั้งเดิม ซึ่งสุดท้ายผู้ใช้งานก็จะเป็นคนเลือกว่าจะใช้ Bitcoin แบบดั้งเดิม หรือจะใช้ Bitcoin รัฐบาล ที่จะกลับไปตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง และในท้ายที่สุดถ้าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช้ Bitcoin รัฐบาล แต่ยังใช้ Bitcoin แบบดั้งเดิม Bitcoin แบบดั้งเดิมก็จะทำหน้าที่เหมือนเดิมต่อไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นแต่ Bitcoin รัฐบาลก็จะล่มสลายหรือล้มโครงการไปเอง เพราะจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการทำสิ่งนั้น แต่กลับไม่มีคนใช้

โปร่งใสและตรวจสอบได้

ทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Bitcoin Blockchain จะถูกตรวจสอบในทุกธุรกรรมก่อนการบันทึกข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีจำนวน Bitcoin ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือหายออกไปจากระบบไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม จะอยู่บนกฎเกณฑ์เดียวกันนี้ทั้งหมด

และการดำเนินการนี้ก็ยังถูกเผยแพร่เอาไว้ใน Bitcoin Explorer ที่ต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราก็สามารถเรียกใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้ เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะ เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปตรวจสอบทุกธุรกรรมย้อนหลังได้ตลอดเวลา และอีกเช่นกัน จะไม่มีธุรกรรมใดเลยที่เกิดขึ้นโดยใช้การปกปิดบางอย่างเพื่อไม่ให้เปิดเผยต่อสาธารณะได้ ดังนั้นทุกธุรกรรมที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันเราสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด

มีปริมาณและอัตราการผลิตที่ถูกกำหนดไว้อย่างคงที่และจำกัด

จำนวน Bitcoin ที่จะมีได้สูงสุดในระบบก็คือ 21 ล้าน Bitcoin โดยหนึ่ง Bitcoin มีจำนวนทศนิยมได้ 8 ตำแหน่ง(0.00000001 Bitcoin เราเรียกว่า 1 Satoshi) ซึ่งถ้าเราคิดในมุมการแจกจ่ายให้ทุกคนบนโลกคนละ 1 Satoshi จะพบว่ามีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับประชากรทั้งโลก แต่ต้องบอกว่านั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย เพราะระบบ Bitcoin ก็สามารถปรับโครงสร้างเพื่อให้เพิ่มจำนวนทศนิยมให้เพียงพอต่อประชากรทั้งโลกได้ง่ายนิดเดียว

อีกทั้งอัตราการผลิตเพิ่ม ก็ถูกกำหนดเอาไว้ในโค้ดล่วงหน้าแล้ว ซึ่งตายตัวและตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังทำงานได้ถูกต้องอยู่เสมอ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครแอบสร้าง Bitcoin ขึ้นมาจากตรงไหน เพราะจำนวนทั้งหมด จะถูกตรวจสอบตลอดเวลาในทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการกระจายอำนาจที่ได้กล่าวถึงในย่อหน้าบนแล้วนั่นเอง

ประโยชน์ที่ชัดเจนจากการกำหนดอัตราการผลิตที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ทำให้เราสามารถพยากรณ์อัตราการเฟ้อได้อย่างแม่นยำ และ คำนวณมูลค่าทางการตลาดได้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อทุกคนอยู่บนหน่วยของ Bitcoin ก็จะไม่มีใครได้เปรียบมากกว่าใครหากถือจำนวน Bitcoin ที่เท่ากัน ไม่ว่าจะมีอำนาจมากแค่ไหนก็ตามก็บีบบังคับให้ผลิต Bitcoin เพิ่มให้ใครคนใดไม่ได้

ความสามารถในการเก็บรักษามูลค่า

ต่อเนื่องจากย่อหน้าบน ที่ถือเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดกับระบบการเงิน Fiat ในปัจจุบัน ที่มีการพิมพ์เงินเพิ่มได้ตลอดเวลาตามนโยบายในช่วงนั้นๆ อันจะส่งผลโดยตรงต่อสภาวะเงินเฟ้อ และการพิมพ์เงินนั้นก็จะไปถึงกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ประโยชน์ แต่กลับกันถ้ามีการพิมพ์เงินเกิดขึ้นทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ คนส่วนใหญ่ของประเทศคือคนที่เสียผลประโยชน์ต่างหาก ดังนั้นเมื่อ Bitcoin ไม่สามารถพิมพ์ขึ้นเองได้ตามใจชอบสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

โดยสมมติฐานและกลไกนี้ก็ตีความได้ว่า ในระยะยาว Bitcoin ก็จะสามารถรักษามูลค่าที่มันควรจะเป็นเอาไว้ได้ เพราะไม่ถูกการพิมพ์เพิ่มโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแอบสร้างขึ้นมาจากจุดใดของระบบ แต่คำว่ารักษามูลค่าก็ขอให้เข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงหนึ่ง Bitcoin มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทตลอดไป เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามูลค่าของ 1 Bitcoin ที่แท้จริงจะมีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ อาจจะเป็น 35 ล้านบาทต่อ 1 Bitcoin หรือลงไปเหลือเพียง 35,000 บาทต่อ 1 Bitcoin ก็เป็นไปได้ ซึ่งนั่นจะเป็นเรื่องของอนาคต และผู้ที่เข้าร่วมใช้งาน จะเป็นตัวกำหนดร่วมกันในทางตรงบางส่วน ทางอ้อมบางส่วน (จากการ trade และการเก็บออม)

ความสามารถในการเคลื่อนย้าย

ถ้าเราพูดว่าเราต้องการเก็บความมั่งคั่งเอาไว้ในทรัพย์สินใด คนส่วนใหญ่ก็คงบอกว่า ทองคำ และ ที่ดิน ถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นในประเทศไทยแล้วเราจำเป็นจะต้องย้ายไปอยู่ที่ประเทศอื่น หรือไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศอื่น ขอให้จินตนาการถึงการขนย้ายทองคำและที่ดินออกไปดูสิ ว่าเราสามารถทำได้อย่างไรและทำได้หรือไม่

ตั้งแต่อดีต ประเทศไทยมี พรก. ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ 2485 ว่า ห้ามนำทองคำออก โดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์ต่างๆ แล้วคิดจะขนทองคำออกไปตั้งหลักที่ต่างประเทศแบบง่ายๆ ก็ลืมไปได้เลย สิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งถ้าประเทศเกิดวิกฤตการขนทองคำออกก็จะถูกตรวจค้นอย่างเข้มงวดมากขึ้นไปอีก เหมือนอย่างที่หลายประเทศที่มีวิกฤตทางการเงินตอนนี้เผชิญอยู่ คนที่จะออกจากประเทศก็จะถูกตรวจทรัพย์สินอย่างเข้มงวดมาก

แต่ Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่เราสามารถนำมันไปที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ และแทบจะไม่ต้องใช้อะไรเป็นสื่อกลางในการเก็บเลยด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่ถูกตรวจสอบยากที่สุดก็คือใช้วิธีการจดจำ Seed Word ทั้งหมดเอาไว้แล้วให้มันติดไปกับความทรงจำของเรา เท่านี้ไม่ว่าจะถูกตรวจค้นอย่างไรก็จะไม่มีทางทราบได้อย่างแน่นอนว่าเรากำลังนำ Bitcoin ออกไปนอกประเทศ

และในปัจจุบันการได้รับความยอมรับของ Bitcoin นั้นก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีอิสระมากขึ้นในการที่จะนำ Bitcoin ไปใช้หรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราที่ใดก็ได้ในโลกใบนี้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จึงเพิ่มความได้เปรียบมากขึ้นเรื่อยตามเวลาที่ผ่านไป

ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ต่ำ

ในมุมนี้เราต้องมองว่า Bitcoin คือสินทรัพย์ เมื่อเราเทียบกับทองคำและที่ดินเราจะรู้ทันทีว่าการโอนขายแลกเปลี่ยน Bitcoin นั้นมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่ามาก เช่น การซื้อทองอย่างน้อยเราก็ต้องจ่ายค่ากำเหน็จหรือค่าบล็อกทอง ซึ่งถ้าเราซื้อทองที่มีมูลค่าน้อยสัดส่วนของค่าธรรมเนียมตรงนี้จะสูงมาก แต่กับ Bitcoin ไม่ว่าจะทำธุรกรรมมูลค่ามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ค่าธรรมเนียมก็จะค่อนข้างคงที่ตามแต่ความหนาแน่นของเครือข่าย Bitcoin ในช่วงเวลานั้น อีกทั้งการซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำเราจะต้องนำทองคำที่ต้องมีการขนย้ายไปถึงสถานที่ เพื่อทำการแลกเปลี่ยน แต่ Bitcoin เราใช้มือถือบวกอินเทอร์เน็ตก็เพียงพอแล้วที่จะทำธุรกรรมได้ ส่วนเรื่องที่ดินอย่างที่เรารู้กัน มีค่าธรรมเนียมการโอนที่ชัดเจนและหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายไม่ได้ อีกทั้งยังมีค่าจดจำนองเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก ยังไม่นับอื่นๆ อีกจิปาฐะ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนก็จะต้องจ่าย ซึ่งจะแปรผันตามมูลค่าของราคาที่ดินอีกด้วยเพราะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าที่ดินอีกที

จะใช้เป็นเงินก็ได้

ในตอนที่ Bitcoin ยังพัฒนาไม่มากนั้นการโอน Bitcoin เพื่อทำหน้าที่แทนเงินในการชำระค่าสินค้าและบริการบางอย่างถือว่ามีค่าธรรมเนียมที่แพงมากๆ บางช่วงเวลาอาจจะต้องจ่ายถึง 1,000 บาท (เมื่อเทียบมูลค่า) ต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้งเลยก็เป็นได้ อีกทั้งยังต้องรอการยืนยันธุรกรรมจาก Network อีกไม่น้อยกว่า 10 นาที แต่ในปัจจุบัน Lightning Network ของ Bitcoin ทำให้เราสามารถโอน Bitcoin ไปที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ถ้ามีอินเตอร์เน็ต ในเวลาเสี้ยววินาทีเหมือนการเปิดหน้าเว็บ 1 เว็บ อีกทั้งค่าใช้จ่ายก็ต่ำมาก โดยการโอน Bitcoin ผ่าน Lightning Network นั้นโดยปกติจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ประมาณ 0.035 บาท (3.5 สตางค์) ต่อธุรกรรมเท่านั้นเอง และ Bitcoin นั้นก็ยังเป็น Bitcoin จริงๆ ไม่ใช่ Cryptocurrency ที่ทำหน้าที่แบบ Bitcoin อีกด้วย

เพียงแต่ว่าในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศที่ไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นไปได้ยากในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดีตามข้อกฎหมายเรายังใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการแปลงเป็นมูลค่าเงินบาทเพื่อใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ซึ่งก็จะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นทั้งในทางบัญชีและภาษี

แต่ในปัจจุบัน ประเทศ El Salvador และ Central African Republic ได้ออกกฎหมายรองรับให้ Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้แล้ว (ใช้แทนเงินได้เลย)

สรุป

จากข้อดีที่ได้เล่าไปนั้นจะเห็นได้ว่า Bitcoin มีข้อดีที่เป็นจุดเด่นอยู่หลายข้อมากๆ และข้อด้อยที่เคยมีในอดีต ก็ได้ถูกพัฒนาแก้ไขและปรับปรุงมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป โดยที่ Bitcoin เองยังคงรักษาคำมั่นเหมือนวันแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาได้ไว้อย่างเดิม ถ้าถามว่ายังมีสิ่งใดที่รอคอยการเติบโตของ Bitcoin อยู่ ก็คือรอคอยผู้อ่าน ที่ได้เริ่มเข้ามาศึกษาและทำความเข้าใจไปจนถึงการเริ่มยอมรับและเก็บสะสม bitcoin ในฐานะ สินทรัพย์ที่แข็งแรงตัวนึง ไม่น้อยหน้า ทองคำ และ ที่ดิน นั่นเอง

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด