TDA_08092024

สำหรับมือใหม่มาก ที่ยังจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าเรามีเงินวันนี้ แล้วเราต้องการครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างไร บทความนี้ จะมาอธิบายให้ฟังโดยเล่าเรื่องพื้นฐานประกอบเพื่อความเข้าใจด้วยเลย และวิธีการเปลี่ยนเงินให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมข้อกำหนด หรือความเสี่ยงในแต่ละช่องทางเลย

สินทรัพย์ดิจิทัลคืออะไร?

สินทรัพย์ดิจิทัลคือทรัพย์สินที่มีการแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัล สามารถส่งต่อและแลกเปลี่ยนผ่านระบบดิจิทัลได้ โดยในที่นี้ เราจะนิยามให้มีความแตกต่างจากเงินที่เก็บอยู่ใน Wallet ของผู้ให้บริการ หรือ Item ที่อยู่ในเกม ที่มีการเก็บสินทรัพย์ในการบันทึกข้อมูลรวมศูนย์ที่เดียว แต่เราจะกล่าวถึงแต่เพียงสินทรัพย์ดิจิทัลหลายประเภท ที่มีการทำงานแบบการกระจายศูนย์ เปิดเผย และใช้เทคโนโลยี blockchain อยู่เบื้องหลัง และแต่ละประเภทมีความเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกจากกันได้ดังนี้

ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล

1. Cryptocurrencies (คริปโตเคอเรนซี)

    • Cryptocurrencies เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บข้อมูลธุรกรรมบน blockchain ที่มีโค้ดเขียนการทำงานส่วนต่างๆ เอาไว้อย่างรัดกุม ปลอดภัยและใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นคริปโตเคอเรนซีแรกที่เปิดตัวและยังคงเป็นที่รู้จักมากที่สุด ปัจจุบันมีคริปโตเคอเรนซีอื่นๆ มากมาย เช่น อีเธอเรียม (Ethereum), ริพเพิล (Ripple) และไลท์คอยน์ (Litecoin)

2. NFTs (Non-Fungible Tokens)

    • NFTs เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของหรือสิทธิ์ในสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ผลงานศิลปะ ดนตรี วิดีโอ หรือการ์ดสะสมดิจิทัล แต่ละ NFT มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ และแต่ละ Token จะมีข้อมูลหรือ meta data ที่แตกต่างกัน หรือ เหมือนกันแต่ก็จะมี unique id ที่แตกต่างกันเสมอ

3. Digital Tokens (โทเค็นดิจิทัล)

    • Digital Tokens เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือใช้ในแพลตฟอร์มดิจิทัลเฉพาะ ตัวอย่างเช่น Utility Tokens ที่ให้สิทธิ์ผู้ถือในการเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง หรือ Security Tokens ที่แสดงถึงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

 

เทคโนโลยีเบื้องหลัง: Blockchain

เบื้องหลังความสำเร็จของสินทรัพย์ดิจิทัลประกอบด้วยหลาย Technology แต่ว่า Technology หลักคือเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นระบบการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Ledger) ที่มีความปลอดภัยและโปร่งใส ข้อมูลใน Blockchain ถูกบันทึกในรูปแบบของบล็อก และบล็อกเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงกันด้วยผลลัพธ์จากการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้การปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลโดยไม่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์กาารเข้ารหัสเป็นไปได้ยาก แต่ว่าตรวจสอบการถูกปลอมแปลงได้ง่าย

Blockchain ทำให้การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ นอกจากนี้ยังลดความต้องการในตัวกลาง (Intermediaries) ทำให้การทำธุรกรรมมีค่าใช้จ่ายต่ำและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกรรมระหว่างประเทศ และ ธุรกรรมที่ต้องการความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสที่สูงมากๆ

สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดใหม่ในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเงินในอนาคต เพราะมีความแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินแบบเดิมอย่างมาก แต่มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในกระบวนการแลกเปลี่ยนถ่ายโอน

 

ช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจในโลกของคริปโตเคอเรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ  ในปัจจุบัน มีหลายช่องทางที่สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ได้มาครอบครอง หรือ เพื่อเปลี่ยนมือออกไป ซึ่งแต่ละช่องทางมีความสะดวกและความปลอดภัยที่แตกต่างกันไป

 

การแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์ม Exchange

1. Centralized Exchanges (CEX)

    • Centralized Exchanges หรือ CEX เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนที่มีตัวกลางเป็นผู้ควบคุมและดูแลการทำธุรกรรม ตัวอย่างเช่น Binance TH, Bitkub, และ Orbix เป็นต้น ผู้ใช้สามารถทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายและรวดเร็ว โดยสามารถใช้เงินบาท เพื่อซื้อได้โดยตรง โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้มักมีการรักษาความปลอดภัยสูง แต่ผู้ใช้ต้องไว้วางใจในผู้ให้บริการเหล่านี้อีกด้วย
    • Broker และ Dealer เหล่านี้ เราอาจจะเรียกรวมว่าเป็น CEX ด้วยก็ได้เหมือนกัน แต่ว่ามีการทำงานเพียงบางอย่างที่แตกต่างกันในเบื้องหลัง ซึ่งเราจะใช้เงินบาทซื้อได้โดยตรงได้ไม่แตกต่างจากการใช้งาน CEX โดยทั่วไป
    • ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต จาก ก.ล.ต. อย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้จาก https://market.sec.or.th/LicenseCheck/views/DABusiness?exchange โดยมีแสดงรายชื่อ และแยกชัดเจน 3 หมวด คือ Exchange, Broker และ Dealer
    • จะมีเพียงการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล เข้า และ ออกจาก CEX เท่านั้น ที่เป็นธุรกรรมที่จะบันทึกบน Blockchain นอกนั้นจะเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในระบบ CEX ซึ่งไม่มีการบันทึกลงบน blockchain เช่น ซื้อ, ขาย หรือ โอนหากันเองระหว่างคนในระบบ เป็นต้น

2. Decentralized Exchanges (DEX)

    • Decentralized Exchanges หรือ DEX เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนที่ไม่มีตัวกลาง การทำธุรกรรมจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้โดยตรงผ่านสมาร์ทคอนแทรค (Smart Contracts) ตัวอย่างเช่น Uniswap, Sushiswap, และ PancakeSwap แพลตฟอร์ม DEX มีความโปร่งใส เนื่องจากระบบจะทำงานตามโค้ดที่แสดงอย่างเปิดเผยใน Smart contract เท่านั้น เราจึงสามารถเข้าตรวจสอบการทำงานของโค้ดได้ด้วยตัวเราเอง แต่บางครั้งอาจมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าและการทำธุรกรรมอาจใช้เวลานานกว่า อันเนื่องมาจากเป็นการทำธุรกรรมโดยตรงบน blockchain transaction
    • ทุก Transaction ที่กระทำ จะเปิดเผยอยู่บน Blockchain ทั้งหมด ไม่สามารถปิดบังธุรกรรมได้(ถ้าระบบนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้ปิดบังตั้งแต่แรก)
    • ไม่สามารถใช้เงินบาท ซื้อได้โดยตรง เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่รองรับการบริการดังกล่าว ถ้ามีบริการที่ไหน ปัจจุบัน จะเป็นบริการที่ไม่ถูกต้อง ตามกฎหมายทั้งหมด เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และส่วนใหญ่ จะซื้อขายผ่านบัญชีม้า ทำให้มีความเสื่ยงในเรื่องคดีการฟอกเงินอีกด้วย
    • เหมาะสำหรับใช้งานเป็นการแลกเปลี่ยน ระหว่าง สินทรัพย์ดิจิทัล กับ สินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า โดยเราจะได้สินทรัพย์ดิจิทัลมาจากการซื้อผ่านทาง CEX อีกทอดหนึ่ง

 

การใช้ DeFi (Decentralized Finance)

DeFi เป็นระบบการเงินที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการสร้างบริการทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง เช่น การให้ยืมและการกู้ยืมเงินผ่านแพลตฟอร์มเช่น Aave และ Compound ผู้ใช้สามารถได้รับผลตอบแทนจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลของตน และสามารถยืมเงินโดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลักประกัน

การใช้งาน DeFi จะไม่รองรับเงินบาทโดยตรงเนื่องจากระบบ DeFi จะทำงานกับสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น เพราะระบบ DeFi ไม่รู้จักเงิน Fiat เลยไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินใดก็ตาม (รวมถึง US Dollar ด้วยก็ตาม) ดังนั้น เราจะใช้บริการได้ ก็ต่อเมื่อได้มีสินทรัพย์ดิจิทัลในมือก่อนแล้ว

 

การใช้ Wallets และการโอนย้ายระหว่าง Wallets

การใช้กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล (Wallets) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลมีหลายประเภท เช่น ฮาร์ดแวร์วอลเล็ต (Hardware Wallets) เช่น Ledger และ Trezor ที่มีความปลอดภัยสูง หรือซอฟต์แวร์วอลเล็ต (Software Wallets) เช่น MetaMask และ Trust Wallet ที่สะดวกในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถโอนย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกระเป๋าสตางค์ได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะไม่มีใครที่จะสั่งอายัด ยึด หรือ ระงับ การทำธุรกรรมใดๆของเราได้ (ต้องเป็นกระเป๋า non custodial เท่านั้น)

ปัจจุบัน มีความพยายามจากทาง EU ที่ระบุว่า การใช้งานกระเป๋า Wallet ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (anonymous wallet) จะถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมองอีกมุม ก็ถือว่าเป็นการริดรอนสิทธ์ได้ และเป็นอีกหนึ่งในความพยายามควบคุมการดำเนินการทางด้านการเงินของประชาชนโดยใช้กฎหมายเป็นตัวบังคับใช้

 

การแลกเปลี่ยนผ่าน Peer-to-Peer (P2P)

การแลกเปลี่ยนแบบ Peer-to-Peer (P2P) เป็นวิธีที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง แพลตฟอร์ม P2P ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตั้งข้อเสนอการซื้อขายและทำการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ต้องการ การแลกเปลี่ยนแบบ P2P มักมีความยืดหยุ่นและสามารถต่อรองราคาได้

แต่ข้อเสียที่สำคัญ ก็คือ การไม่ได้รับการรองรับจาก ก.ล.ต. อีกทั้ง มีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะตกเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาการฟอกเงิน เพราะเราจะไม่มีทางรู้ว่า คนที่เรากำลังซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยนั้น ได้เงินมาจากไหน และเป็นเงินที่สะอาดหรือไม่ ดังนั้น ผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงประสบปัญหาว่า ถูกอายัดบัญชีในเวลาต่อมา และต้องดำเนินการติดต่อประสานงาน เพื่อแจ้งปลดอายัด หรือ รวมถึงการรวบรวมเอกสาร เพื่อไปยื่นต่อเจ้าพนักงาน เพื่อแสดงความบริสุทธ์ใจอีกด้วย

 

แนวทางการจัดการความเสี่ยง

 

การทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน

การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องการลงทุน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและตลาด รวมถึงการติดตามข่าวสารและการวิเคราะห์ตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึง ข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการ ซื้อ ขาย โอน ครอบครอง และหมายรวมไปถึงข้อกำหนดในเรื่องกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

การใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ

การเลือกใช้แพลตฟอร์ม Exchange และกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น การใช้บริการที่มีการยืนยันตัวตน (KYC) และการใช้ระบบการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (2FA) เพื่อเพิ่มความปลอดภัย

และควรใช้บริการจากผู้ให้บริการ ที่ ก.ล.ต. ได้ออกใบอนุญาตให้ ซึ่งแสดงอยู่ที่ https://market.sec.or.th/LicenseCheck/views/DABusiness?exchange

 

การปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้ฮาร์ดแวร์วอลเล็ต (Hardware Wallets) ที่มีความปลอดภัยสูง การเก็บรักษากุญแจส่วนตัว (Private Keys) อย่างรอบคอบ และการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแก่ผู้อื่น ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็น ในการครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะจะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง และ เข้าใจกระบวนการทำงานของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างตรงไปตรงมา ตามเจตจำนงค์ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรก

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด