bitcoin-coin

เรื่องเล่า Bitcoin ใช้ฟอกเงิน

เราน่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าเมื่อนานมาแล้วว่า bitcoin ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของผู้ที่กระทำความผิดทางกฎหมายหรือผู้ที่ค้ายา เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าองค์ความรู้ในความเข้าใจเมื่อก่อนยังมีจำกัด และเป็นเพราะว่าใครก็สามารถสร้างกระเป๋า bitcoin ขึ้นมาเป็นของตัวเองได้เพียงแค่โหลดโปรแกรมลงมาติดตั้ง อีกทั้งสร้างได้ไม่จำกัดโดยไม่ต้องระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวเองลงไปเลยแม้แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งหมดนี้ bitcoin จึงถูกนำมาใช้ เพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนมูลค่า กับสินค้า หรือ บริการบางอย่างที่ผิดกฏหมาย เพราะคิดว่าไม่สามารถติดตามเจ้าของเงินได้

ซึ่งความเป็นจริง ถ้าเราทำได้ดีและมีความระมัดระวังเพียงพอ กระเป๋าใบนั้นจะถูกสร้างขึ้นมาโดยที่ไม่สามารถสืบได้ว่าใครเป็นเจ้าของเลย ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม

ต่อมาเมื่อมีการโอนกันไปมาเกิดขึ้น จะทำให้มีธุรกรรมเชื่อมโยงกัน และเมื่อมีกระเป๋าแม้เพียง 1 ใบจากความเชื่อมโยงนั้น ถูกใช้เพื่อการเปลี่ยนจาก bitcoin กลายเป็นเงิน fait (ซึ่งณ จุดนี้ โดยปกติ จะมีการ KYC หรือ จุดนี้คือจุดที่หลวมที่สุด ในการรักษาความเป็นส่วนตัวไว้) จากจุดนี้เอง ความเป็นส่วนตัวก็จะหมดไปทันที เพราะว่าจะถูกระบุได้ว่ากระเป๋า bitcoin นั้นมีความเชื่อมโยงกับใคร และจะถูกสืบจากตัวบุคคลนั้นย้อนกลับเส้นทางการโอนมาเรื่อยๆ ทีละชั้น ทีละชั้น ได้จนครบทั้งหมดในที่สุด และนี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในส่วนของ bitcoin ที่ใช้ฟอกเงิน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันจึงไม่มีใครใช้ bitcoin เป็นสื่อกลางในการรับชำระสินค้าผิดกฎหมายมากมายเหมือนอย่างเมื่อก่อน เว้นแต่ว่าคนที่ใช้จะมีความรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง

จริงๆ แล้วเงินสดไร้ร่องรอยกว่า

หลายคนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วการใช้เงินสดสามารถปกปิดร่องรอยการทำธุรกรรมได้ดีกว่า เพราะว่าเงินสดเวลาให้กันไม่มีการบันทึกลงในระบบของธนาคารหรือสรรพากรหรือระบบใดๆ เลย ถ้าเป็นคนที่อยู่ในวงการสีเทาหรือดำ มักจะรู้กันว่าเงินสดนี่แหละสุดยอด แต่ถ้าได้อยู่ในวงการนานๆ หรือขนาดใหญ่มากๆ ก็จะได้รับรู้อีกอย่างว่า เงินสดมีข้อเสียที่ยิ่งใหญ่ก็คือกระบวนการจัดเก็บและเคลื่อนย้าย นั่นถึงเป็นเหตุว่าทำไมจึงต้องมีบริษัทรับขนเงิน ทั้งที่ถ้าเราใช้เป็นรูปแบบดิจิตอลเราสามารถโอนหากันได้เพียงแค่ปลายนิ้ว
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เงินสด แต่รวมถึงพระเครื่อง ภาพวาดราคาแพง หรือทองก็ด้วยเช่นกัน ต่างก็ถูกใช้เพื่อเป็นตัวแทนมูลค่าและไม่มีร่องรอยในการแลกเปลี่ยนมูลค่ากันอีกด้วย

เรียกได้ว่า ฟอกกันหนักยิ่งกว่า Bitcoin เสียอีก

Blockchain บันทึกทุกธุรกรรม และแสดงเป็นสาธารณะ

สิ่งที่เป็นความจริงก็คือ โดยปกติธุรกรรมที่เกิดขึ้นและบันทึกใน blockchain จะถูกแสดงเป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกรรมนั้นๆ ด้วยซ้ำ จริงอยู่ที่กระเป๋าไม่ได้สื่อถึงความเป็นเจ้าของด้วยตัวของมันเอง แต่ธุรกรรมและความเชื่อมโยงต่างๆก็จะสามารถสืบไปจนถึงเจ้าของที่แท้จริงได้จากที่ได้เล่าไปแล้ว

ข้อมูลใน Blockchain ไม่สามารถลบ หรือเปลี่ยนแปลงได้

และอีกหนึ่งความจริงก็คือ ข้อมูลธุรกรรมใดๆ ที่บันทึกลงไปใน blockchain แล้ว จะไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ได้อีกตลอดไป (ตราบใดที่ Blockchain Network นั้นยังคงอยู่) ดังนั้นมันจึงถูกใช้เป็นหลักฐานชั้นยอด ที่เชื่อถือได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด มากเสียยิ่งกว่าการบันทึกการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเสียอีก

อนาคตเราใช้ Cryptocurrency ซื้อของ ก็จะรู้ทุกธุรกรรมของเราทั้งหมดเลยสิ

มีสิ่งหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนในการพัฒนาเพื่อจะนำ cryptocurrency มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สาเหตุหลักก็อย่างที่ได้เล่าไปข้างต้นแล้วถ้ามี 1 คนที่รู้ธุรกรรมเราเพียงแค่ 1 ครั้ง เขาจะสามารถสืบย้อนกลับไปจนทำให้รู้ได้ว่า เรามีทรัพย์สินอยู่มูลค่าเท่าไหร่ เรามีการใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และเราได้ใช้จ่ายไปกับที่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งมาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าความโปร่งใสนี้กลับเป็นตัวทำร้ายความเป็นส่วนตัวลงไปในทันที จุดนี้ยังไม่มีวิธีการที่เหมาะสม เพราะว่าถ้าปิดบังธุรกรรมหมดก็จะลดคุณสมบัติของความโปร่งใสจากการใช้งาน blockchain ลงไปทันที

โลกเรายังหาจุดที่เหมาะสมอยู่ ระหว่างความเป็นส่วนตัวกับ ความมั่นคงในการบันทึกธุรกรรม

จากเหตุผลที่เล่าไป โลกเราจึงยังต้องเฝ้ามองหาว่าจะใช้วิธีการแบบใดที่จะยังสามารถคงคุณสมบัติของ blockchain เอาไว้ได้โดยที่ไม่ทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เพราะมันมีหลายอย่างที่ขัดแย้งกัน เช่น ถ้าเราจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การจะยืนยันธุรกรรมที่เป็นสาธารณะก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราเป็นเจ้าของการทำธุรกรรม (หรือกระเป๋าที่ใช้จ่าย) นั้นจริงๆ แต่ถ้าเราเปิดเผยว่าเราเป็นเจ้าของธุรกรรมนั้นเราก็จะถูกสืบธุรกรรมย้อนหลังได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องใช้เวลาในการคิดและหา solution ที่เหมาะสมกันต่อไป

อย่าเข้าใจผิด คิดว่า Cryptocurrency จะใช้ฟอกเงินได้

ดังนั้นแล้ว เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ ก็หวังจากจะไม่คิดใช้ Cryptocurrency ในการฟอกเงินกันอีกต่อไป เพราะมันไม่ได้ช่วยแล้ว ยังเป็นช่องทางที่เปิดสู่สาธารณะ และยังถูกใช้เป็นหลักฐานที่คงทนถาวรอีกต่างหาก

แต่ก็มี Cryptocurrency บางประเภท ที่ถูกสร้างขึ้นมา ที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก

จริงๆ แล้ว blockchain ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเน้นความเป็นส่วนตัวนั้น มีบนโลกเรามานานหลายปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเหมือนอย่าง bitcoin ethereum เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้งาน และความเป็นส่วนตัวที่มากจนเกินไป ทำให้โดยปกติ cryptocurrency ที่เข้าใจได้ยากอยู่แล้ว เมื่อต้องใช้งานแบบที่มีความเป็นส่วนตัวสูง จึงมีฟังก์ชันการทำงานที่ดูจะซับซ้อนมากขึ้นไปอีก อีกทั้งด้วยเรื่องเหตุผลหลักในความเป็นส่วนตัวนี้ ทำให้ธุรกรรมถูกปกปิดร่องรอย และส่งผลให้หลายๆ Exchange ทำการยกเลิกการให้บริการซื้อขาย cryptocurrency เหล่านี้อีกด้วย เพราะถ้าพูดกันตามตรง crypto currency เหล่านี้ไม่เป็นที่ถูกใจกับหน่วยงานรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ ที่ต้องการสอดส่องข้อมูลการทำธุรกรรมของผู้ใช้งานอย่างแน่นอน อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว Huobi ก็ยกเลิกการให้บริการ dash (DASH), decred (DCR), firo (FIRO), monero (XMR), verge (XVG), zcash (ZEC) และ horizen (ZEN) เพราะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการให้บริการของหน่วยงานกำกับอีกทีนั่นเอง

ถึงจุดนี้แล้ว คิดว่าน่าจะเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เกิดจากการใช้งาน cryptocurrency กันมากขึ้นแล้วนะครับ

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด