decentralized-financial-new-financial-system_re

การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ทำให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามกันมา ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็เป็นเหมือนกับประเทศไทยที่มีเงินบาท และมีระบบธนาคาร โรงรับจำนำ หรือสถาบันการเงิน ที่คอยให้บริการ ทางด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ ให้กับเราในปัจจุบัน แต่สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก็มีบริการเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับแล้วด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นเราเรียกว่า Decentralized Financial

Decentralized Financial คืออะไร

ตัวย่อคือ DeFi เป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง โดยเน้นที่กระบวนการทำงานแบบเปิดเผย source code ที่เก็บเอาไว้ใน Blockchain โดยจะมีการเขียนเงื่อนไข การทำงาน และวิธีคิดคำนวณต่างๆ อย่างครบถ้วน ทุกรูปแบบและ function การทำงาน (ถูกเรียกว่า Smart Contract) ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบการทำงานของระบบ ได้ด้วยตัวเอง และในหลายบริการ ก็มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญในการเข้ามาตรวจสอบ source code ที่ทำงานอยู่ เพื่อทำให้ผู้ใช้มั่นใจ ก่อนการเข้าใช้บริการอีกด้วย

บริการต่างๆ ใน DeFi มีหลากหลายรูปแบบ แต่โดยหลักจะเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น และการใช้งาน ผู้ใช้ก็จำเป็นจะต้องเชื่อมต่อระบบของ DeFi ด้วย Crypto Wallet โดยตรงเท่านั้น ดังนั้นจะทำให้มั่นใจได้ว่าการใช้บริการ DeFi หรือการอนุญาตให้ทำธุรกรรมใดๆ บน DeFi จะเกิดขึ้นจากตัวผู้ใช้เพียงคนเดียวเท่านั้น (แต่ก็มีการ grant permission ให้ Smart Contract สามารถทำธุรกรรมได้เกินกว่าที่จำเป็นต้องทำได้ด้วยเช่นกัน แต่ขอ ละ เอาไว้ เนื่องจากเป็นรายละเอียดเชิงลึกในด้าน Technical)

DeFi มีบริการอะไรแล้วบ้าง

ในปัจจุบันมีบริการ DeFi หลากหลายรูปแบบซึ่งเราจะยกมาแสดงเพียง 5 หมวดแรกที่ได้รับความนิยมและมีการใช้บริการที่สูงที่สุด ดังนี้

ระบบเพิ่มสภาพคล่องให้ Ethereum Staker (Liquid Staking)

เป็นบริการที่มีจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาสภาพคล่องสำหรับผู้ที่ได้นำ Ethereum ที่อยู่ในมือไปทำการ stake เอาไว้ใน Ethereum node ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องสำหรับผู้ที่มี Ethereum อยู่ในมือแต่ได้นำไป Stake เอาไว้แล้ว เพราะเนื่องจากการ Stake จะมีการล็อคระยะเวลาทำให้ในช่วงระยะเวลาที่ได้ล็อคเอาไว้ไม่สามารถนำ Ethereum ออกมาขายได้ แม้ว่าจำเป็นต้องใช้เงินก็ตาม บริการนี้จึงได้เกิดขึ้นมาโดยการเปิดรับการ Stake ของ Ethereum Token และแปลงออกมาให้เป็น Token ตัวใหม่ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็เปรียบเหมือนกับได้ตัวสัญญาแลก Ethereum Token แต่ตั๋วสัญญาแลก Ethereum Token นี้จะมีราคาและมูลค่าเทียบเท่ากับ Ethereum ซึ่งสามารถนำไปขายหรือนำไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเช่นการนำไป stake ซ้ำอีกครั้ง เพื่อรับผลตอบแทนเพิ่มอีก 1 ชั้น รวมทั้งในระหว่างการ Stake ก็ยังได้รับส่วนแบ่งจากการเป็น validator node ของ Ethereum อีกด้วย เรียกได้ว่าได้ทั้งผลตอบแทนและทำให้เกิดสภาพคล่องได้ในเวลาเดียวกัน

บริการรับฝากและปล่อยกู้ (Lending & Borrowing)

เป็นบริการที่เปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตัวเองมีอยู่ในมือ เข้ามาฝากเพื่อรับผลตอบแทนในรูปแบบคล้ายกับดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ และเมื่อผู้ใช้บริการได้ฝากสินทรัพย์เข้ามาแล้ว ก็สามารถใช้สินทรัพย์ที่ได้ฝากมาแล้วนั้นเป็นหลักประกัน (Collateral) สำหรับการยื่นกู้ ออกไปได้อีกด้วย เช่น เรามี Bitcoin ที่ต้องการถือนานและไม่ต้องการขายออกไป เราก็สามารถนำ Bitcoin เข้ามาฝากและใช้เป็นหลักประกันได้ จากนั้นเราก็กู้ USDT ที่เป็น Stable Coin ออกไปใช้งานได้ เมื่อเราต้องการชำระหนี้คืน เราก็ชำระด้วย USDT ที่เราได้กู้ออกไป พร้อมกับดอกเบี้ยกู้ที่ค้างจ่ายอยู่ เมื่อชำระหนี้จนครบแล้วเราก็จะสามารถขอรับ Bitcoin ทั้งหมดที่เราฝากเอาไว้คืนกลับมาได้ จากกรณีนี้เราจะเสียแต่เพียงดอกเบี้ยเงินกู้ เท่านั้น ส่วนฝั่งของ Bitcoin ที่เราได้ฝากเอาไว้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามดอกเบี้ยฝั่งฝากของตัว Bitcoin เองที่ได้ประกาศเอาไว้

โดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ยของฝากและฝั่งกู้ จะเป็นแบบลอยตัว ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของตลาด ถ้า Token หรือ Cryptocurrency ตัวใดที่มีความต้องการกู้สูง ระบบจะปรับให้ดอกเบี้ยฝากและดอกเบี้ยกู้ของ Token หรือ Cryptocurrency ตัวนั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยอัตโนมัติ (ส่วนใหญ่จะมีสมการ หรือ chart อธิบายเอาไว้) และในทางกลับกันถ้ามีความต้องการที่จะกู้ต่ำดอกเบี้ยทั้งสองฝั่งก็จะกลับมาลดต่ำด้วยเช่นกัน (แต่โดยปกติ จะคิดดอกฝั่งกู้สูงกว่า ฝั่งฝากเสมอ) โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นไปแบบในลักษณะ Real Time คือไม่มีการการันตีอัตราดอกเบี้ยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ระบบจะคำนวณเพื่อแสดงให้ดูว่าอัตราดอกเบี้ยของทั้งฝั่งฝากและฝั่งกู้ในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร

ระบบนี้จะคล้ายกับการทำงานของระบบธนาคารผสมรวมกับโรงรับจำนำในที่เดียวกัน เพราะฝากก็ได้ดอกเบี้ยและกู้ออกมาจากสินทรัพย์ที่ค้ำเอาไว้ได้ โดยสินทรัพย์นั้นจะยังเป็นของเรา เมื่อเราได้ชำระหนี้คืนเป็นเทียบเรียบร้อยแล้ว

บริการโอนย้ายทรัพย์สินข้าม Blockchain Network (Bridge)

ขออธิบายธรรมชาติของ Blockchain Network เพื่อให้เข้าใจก่อน โดยปกติ Native Token ที่ถูกสร้างบน Network ใดๆ จะทำงานได้เพียง Network ที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น Bitcoin จะทำงานอยู่บน Bitcoin Blockchain Network เท่านั้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ Ethereum จะทำงานอยู่บน Ethereum Blockchain Network เท่านั้น รวมทั้ง Token ที่ถูกสร้างบน Blockchain Network ก็จะทำงานได้แต่เพียงบน Blockchain Network ที่ถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกเท่านั้น (แต่หลาย Token ก็มีการสร้างบนหลายๆ Token อย่างอิสระต่อกัน แต่ว่าเป็น Token ที่ทำหน้าที่เดียวกันทั้งหมด เช่น USDT , USDC เป็นต้น)

ต่อมามีคนพยายามอยากจะใช้ Bitcoin ให้ทำงานบน Ethereum Blockchain Network ได้ จึงได้มีการสร้างตั๋วสัญญาแลก Bitcoin ขึ้นมาบน Ethereum Blockchain Network เช่น WBTC โดยใครที่ได้ถือ WBTC ก็จะมีสิทธิ์ได้เทียบเท่ากับการถือ 1 Bitcoin โดยผู้สร้างก็ได้สร้างขึ้นมาบน Smart Contract โดยเบื้องหลังก็จะมีจำนวน Bitcoin ที่เป็นหลักประกันจำนวนเท่ากันกับจำนวนของ WBTC แต่ถึงแม้จะมี Bitcoin ที่ทำงานบน Ethereum Blockchain Network ได้แล้ว แต่ก็ยังมีการเคลื่อนย้ายข้าม Network ได้ยากอยู่ดี (โดยปกติจะใช้การฝากเข้า Centralized Exchange แล้วถอนออกจากอีก network นึงแทน) จึงต้องมีบริการโอนย้ายสินทรัพย์ข้าม Blockchain Network ให้ง่ายขึ้น นั่นก็คือบริการ Bridge ที่เรากำลังพูดถึงนี่เอง

โดยหลักการ ผู้ให้บริการ Bridge จะมีสภาพคล่องอยู่ทั้ง 2 Network เพื่อรองรับความต้องการของทั้งสองฝั่งที่จะโอนสินทรัพย์ข้ามกันไปมา จากตัวอย่างก็หมายถึงผู้ให้บริการ Bridge จะต้องมีทั้ง Bitcoin ที่อยู่ใน Bitcoin Blockchain Network และมีทั้ง WBTC ที่อยู่บน Ethereum Blockchain Network เมื่อมีคนนำ Bitcoin จาก Bitcoin Blockchain Network เข้ามาโอนย้าย คนนั้นก็จะได้รับ WBTC ที่ฝั่งของ Ethereum Bockchain Network ในจำนวนที่เท่ากัน (จริงๆ คือจะได้รับน้อยลงเล็กน้อย เพราะมีค่าบริการการโอนย้ายด้วย)

สิ่งนี้จะทำให้สภาพคล่องและการโอนย้ายระหว่าง Network ทำได้ง่ายมากขึ้น โดยในปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการ Bridge เป็นจำนวนมากและได้รองรับจำนวน Token อีกเป็นจำนวนมากรวมถึงจำนวน Network ที่รองรับก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน บางผู้ให้บริการอาจจะรองรับจำนวน Token มากถึง 40 Token และในบาง Token อาจจะรองรับจำนวน Network สูงถึง 10 Network

ระบบแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Decentralized Exchange, DEX)

บริการนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนระบบที่มีสภาพคล่องของ Token ต่างๆ อยู่ใน Pool ซึ่งผู้ที่เติมสภาพคล่องก็เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอง รวมทั้งใครก็ตามที่ต้องการช่วยเสริมสภาพคล่องใน Token ใดๆ ที่ตัวเองมีอยู่ โดยเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการแลกเปลี่ยน Token เกิดขึ้น ทางเจ้าของแพลตฟอร์มและคนที่ช่วยเสริมสภาพคล่องก็จะได้รับส่วนแบ่งในค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนครั้งนั้นๆ เป็นรายได้

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ระบบนี้ก็จะทำให้เกิดกิจกรรมในรูปแบบเดียวกับ Barter transaction เพราะเป็นระบบที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลตัวหนึ่งไปเป็นสินทรัพย์ดิจิตอลอีกตัวหนึ่ง โดยจะหักค่าธรรมเนียมเอาไว้ เพื่อแบ่งปั่นให้เจ้าของแพลตฟอร์มและผู้ที่ช่วยเสริมสภาพคล่องของทั้ง 2 สินทรัพย์ดิจิทัลตัวนั้น รวมทั้งมีกลไกการคำนวณราคาตามจำนวนสินทรัพย์ดิจิตอลทั้ง 2 ตัว ในแบบ Real Time อีกด้วย

โรงกษาปณ์ (The Collateralized Debt Position, CDP)

จะมีความคล้ายคลึงกับระบบของ Liquid Staking ตามที่ได้อธิบายไปแล้วข้างบน แต่ความแตกต่างก็คือ เป้าหมายของระบบนี้จะรองรับการฝากของ Token ที่หลากหลายรูปแบบมากกว่า และการสร้าง Token แบบใหม่ขึ้นมา จะมีมูลค่าที่คงที่เมื่อเทียบกับอะไรบางอย่าง เช่น DAI Token ที่จะมีมูลค่าเทียบเท่ากับ มูลค่าของ 1 US Dollar เพื่อให้ผู้ที่ได้รับ DAI Token เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น และนำไปใช้เป็นสภาพคล่องให้กับตัวเองได้อีกด้วย (DAI Stable Coin สามารถขายใน Bitkub ที่เป็น Digital Asset Exchange ของไทย กลับมาเป็นเงินบาทได้ ในเรทราคาใกล้เคียงกับ 1 US Dollar)

ผมจึงเปรียบได้เหมือนกับโรงกษาปณ์ ก็คือ เราเอาสินทรัพย์ใดๆ เข้าไปค้ำประกัน เพื่อพิมพ์เงินออกมาใช้ และถ้าเราต้องการรับสินทรัพย์คืน เราก็แค่คืนเงินที่เราพิมพ์ออกมา พร้อมดอกเบี้ยกลับเข้าไป ก็จะรับสินทรัพย์ที่เราใช้ค้ำเอาไว้กลับคืนมาได้

โดยความแตกต่างของระบบนี้ กับ Lending ที่ดูเหมือนจะทำงานคล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ สินทรัพย์ที่เรารับออกมานั้น จะเป็นการพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งสร้างใหม่ได้ไม่อั้นด้วย (ตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ค้ำประกันอยู่เบื้องหลัง) แต่ Lending นั้น จะเป็นสินทรัพย์โดยทั่วไป ที่มีอยู่ในสภาพคล่องของระบบอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการสร้างขึ้นมาใหม่

5 บริการของ DeFi นี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจว่าในปัจจุบัน DeFi มีความสามารถในการทำอะไรยังไงได้แล้วบ้าง ซึ่งในชีวิตจริงยังมีมากกว่านี้อีกมาก และในแต่ละหมวด ก็มีผู้ให้บริการในนามต่างๆ เป็นจำนวนมากมายหลายสิบจนถึงหลักร้อยผู้ให้บริการเลยทีเดียว เราซึ่งเป็นผู้ใช้ ก็ควรที่จะเรียนรู้ และ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วยพร้อมกัน เพราะมีโอกาสอยู่ในระบบ DeFi อีกมากมาย ที่มีคนเข้าไปหาประโยชน์หรือผลตอบแทนได้จริงอยู่ในตอนนี้

แต่อย่างไรก็ดี DeFi ยังอยู่ในช่วงแรก ของการพัฒนาและเติบโต ที่ได้ถูกนำออกมาใช้งานจริง ซึ่งหลายครั้ง ก็เกิดปัญหา ทำให้ผู้ใช้งานสูญเสียเงินทั้งหมดไปได้เลย เราต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงตรงนี้พร้อมๆ กันด้วยเช่นกัน

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด