พฤติกรรม และ ธรรมชาติของสินทรัพย์ดิจิทัล

พฤติกรรมและธรรมชาติของสินทรัพย์ดิจิทัล

ถึงทุกท่านที่สนใจในการลงทุนหรือซื้อเพื่อครอบครอง สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) รวมไปถึงท่านที่ได้เริ่มต้นลงทุนหรือมีอยู่ในครอบครองแล้วด้วยบางส่วนเนื้อหาวันนี้จะเล่าให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและธรรมชาติของ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ทั้งหลายในแบบที่เป็นกลางโดยไม่โอนเอียงหรือเฉพาะเจาะจงกับตัวใดตัวหนึ่งเป็นการเฉพาะ

 

พฤติกรรม เรื่องความคงทน

ความคงทนในที่นี้หมายถึงความคงทนต่อการถูกเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข จนอาจจะทำให้เพิ่มขึ้นลดลงของจำนวนโดยที่ไม่ได้เป็นภาวะปกติของระบบ หรือเรียกว่า โดน hack นั่นเอง

เราจะต้องแยกให้ออกก่อนว่า Digital Asset ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ทำงานอยู่บนเทคโนโลยีอะไร เพราะว่าแต่ละเทคโนโลยีจะมีความคงทนที่ไม่เหมือนกัน แต่หากเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปและเป็น Network ที่มีอายุมานานแล้ว ต่างก็ได้รับการยืนยันด้วยการเวลา ว่ามันแข็งแรง และคงทนมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่เราได้เป็นเจ้าของ Digital Asset ที่บันทึกข้อมูลการครอบครองเอาไว้บนบล็อกเชนเหล่านั้นแล้วก็จะมีความคงทนและแน่นอนในการที่เราเป็นเจ้าของสูงมากด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่ามั่นใจได้ถ้าเราเองไม่ทำอะไรผิดพลาดสินทรัพย์นั้นก็จะเป็นของเราตลอดไป ตราบใดที่ Network ที่รันบล็อกเชนนั้นยังคงอยู่

 

พฤติกรรม เรื่องสภาพคล่อง

โดยธรรมชาติของ Digital Asset นั้นจะมีสภาพคล่องที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและตัวสินทรัพย์ที่เราถืออยู่ยกตัวอย่าง bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงแต่ก็ยังไม่สูงเมื่อเทียบเท่ากับ stable Coin ต่างๆ เช่น USDT, USDC, DAI เป็นต้น แต่ประเภทที่เป็น NFT จะมีสภาพคล่องที่ต่ำกว่าค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการที่เราประกาศขายแล้วต้องใช้เวลานานประมาณนึงจนกระทั่งพบผู้ที่สนใจและซื้อต่อจากเราไปได้ หรือในอีกหลายๆ ครั้งที่เราประกาศขายแล้วไม่มีผู้ที่ต้องการจะซื้อเป็นเวลานานๆ หรืออาจจะตลอดไป สิ่งนี้จะสะท้อนออกมาได้ว่าสภาพคล่องที่สินทรัพย์เราที่เรามีอยู่ในมือนั้นค่อนข้างต่ำ

ก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าสินทรัพย์ที่เรากำลังตัดสินใจจะครอบครองเป็นเจ้าของนั้นมีสภาพคล่องเป็นอย่างไรบ้าง เผื่อวันที่เราต้องการจะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนก็จะพอประเมินระยะเวลาที่ต้องใช้ได้ออก

 

พฤติกรรม เรื่องมูลค่า หรือ ราคา

เช่นเดียวกันกับสภาพคล่อง เพราะเรื่องราคาและสภาพคล่องมักจะเป็นเรื่องที่ผูกพันธ์กัน แต่ไม่ได้แปลว่าต้องไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ไม่ได้แปลว่า สภาพคล่องดี จะมีราคาหรือมูลค่าสูงขึ้นเสมอไป และก็เชื่อได้ว่า เรื่องราคา ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญมากที่สุด (หากเรายังอยู่ในโหมดทุนนิยมนะ) สำหรับเรื่องราคา โดยส่วนใหญ่ จะถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาด ตัว token ใดก็ตาม ที่ตลาดไม่ต้องการ คนก็จะทยอยเทขายออกมา ทำให้ราคาตก หรือว่า ถูก hack หรือ เกิดความผิดพลาดจากการทำงานของ business ที่เกี่ยวข้องกับ Token นั้นก็จะทำให้ราคาตกด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องของมูลค่า อันนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจาก Token ต่างๆ นั้น โดยส่วนใหญ่ จะไม่มีสินทรัพย์ที่อ้างอิงอยู่ข้างหลัง ยกเว้น Stable coin หลายตัว เช่น USDC ที่มีเงิน US Dollar เป็นหลักประกันอยู่ข้างหลังเต็มจำนวน หรืออย่าง DAI ที่เป็น Stable coin แต่มี ETH หรือ digital asset อื่นๆ ค้ำเป็นมูลค่าข้างหลังอีกทีหนึ่ง แบบนี้ เราจึงสามารถหามูลค่าพื้นฐานออกมาได้จริงๆ แต่กับ Token ส่วนใหญ่ ไม่สามารถหามูลค่าได้เลย แม้กระทั่ง Bitcoin เองก็ตาม เพราะการออกแบบ ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นอย่างนั้นตั้งแต่แรกด้วย แต่ใช้ตลาดเป็นตัวกำหนดราคา และใช้ความเชื่อของคนที่ถือเป็นตัวกำหนดมูลค่าอีกทีนั่นล่ะ

ดังนั้น เรื่องของ ราคากับมูลค่านี้ ต้องพิจารณาให้ดี ว่า Token หรือ สินทรัพย์ที่เราซื้อ ใช้อะไร หรือมีกระบวนการอะไรที่เป็นตัวกำหนดมูลค่า และราคาอยู่บ้าง เพื่อให้เราเข้าใจถึงความเสียงที่จะเกิดขึ้นของราคาได้

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ การเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงในระดับ 99% ในวันเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ไม่แปลกใหม่เลย หรือว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงวันละ 20% ต่อวันต่อเนื่องกันหลายๆวัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาด้วยเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆอยู่แล้ว

 

พฤติกรรม เรื่อง trend และการเก็งกำไร

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา จริงๆไม่ใช่แค่เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ว่าสินค้า ทั่วไป ก็ไม่แตกต่างกันเลย เช่น ช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด สินค้าต่างๆ ก็ฉวยโอกาสขึ้นราคา เพราะมีคนซื้อไปกักตุนเอาไว้เป็นจำนวนมาก หรือว่า ช่วงนี้ที่ต้นไม้สวยงาม ก็กลับขึ้นมามีราคาสูงขึ้นมา บางต้นเป็นล้านบาทเลยทีเดียว

เราจึงจะเห็นได้ว่า อะไรก็ตามที่มี Trend ว่าจะมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้น และเข้ามาทำกำไรกันมากขึ้นด้วยต่อเนื่องกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ เมื่อไรก็ตามที่ Trend เริ่มตกลง หรือว่า มีกระแสที่ไม่ดีออกมา ราคาก็จะตกลงอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่เก็งกำไร ก็รีบขายทำกำไรออกมาก่อน และคนอื่นๆ ก็ทยอยขายตามกันมาเรื่อยๆ ราคาก็ตกลงเรื่อยๆ ตามกลไก ดังนั้น ในตลาดนี้ เราก็ต้องติดตาม Trend อย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้รู้และเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ดำเนินมาถึงจุดไหนแล้ว จะได้พอประเมินอนาคตเบื้องต้นได้ ประกอบการตัดสินใจอีกทีหนึ่ง

 

การให้ความยอมรับเพื่อใช้งานจริง

นี่เป็นอีกเรื่องที่เกิดการถกเถียงกัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง Bitcoin เอง ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน แต่ว่า ค่า Fee ที่เกิดขึ้นในจังหวะการแลกเปลี่ยนกลับแพงมากๆ เมื่อต้องนำมาใช้งานบนธุรกรรมที่มี มูลค่าน้อยๆ เช่น เราคงไม่ใช้ Bitcoin ซื้อตั๋วหนัง ใบละ 200 บาท แต่มีค่าธรรมเนียมการโอนครั้งละ 500 บาท อย่างแน่นอน (เว้นแต่การใช้ Centralize provider มาเป็น ผู้ให้บริการตรงกลาง เพื่อลดค่าธรรมเนียม อันนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สามารถทำได้)

Bitcoin เอง ก็เลยถูกตีตราว่า น่าจะเปรียบได้เหมือนกับทองมากกว่าที่คนซื้อเพื่อเก็บ ให้มันเก็บมูลค่าในระยะยาว มากกว่าการเอาทองมาซื้อสินค้าและบริการแบบตั๋วหนัง หรืออะไรแบบนี้เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเปรียบให้เหมือนเป็นอะไรก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การเอาไปใช้งานจริง นี่คือจุดที่สำคัญมากที่สุด เพราะว่าอะไรที่มีราคาแพงแค่ไหน แต่ถ้าไม่เกิดการใช้งานจริง มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่ได้ต่างจากตัวเลข digital ธรรมดาเลขหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่มีมูลค่า และไม่มีราคาอะไรอีกต่อไป ดังนั้น แก่นแท้ของมูลค่า ราคา และสภาพคล่อง ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นจากการยอมรับเพื่อเอาไปใช้งานจริงด้วยกันทั้งนั้น

ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น ใน Digital Assets ซึ่งหลายๆ พฤติกรรม ก็ไม่ได้แตกต่างจาก Assets ประเภทอื่นๆ เลยด้วยเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เคยเป็นมาแล้ว มันก็เป็นแบบเดิมต่อไป ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีพฤติกรรมเป็นมนุษย์แบบเดิมๆ อยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเข้าใจ ต่อสินทรัพย์ประเภทนี้ และการบริหารความเสี่ยงเป็นหลัก ที่จะช่วยเป็นการแยกแยะให้เราเป็นนักลงทุน มากกว่าจะเป็นนักพนันนั่นเอง

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด