asset-management

ทำความรู้จัก Digital Assets แบบต่างๆ

digital assets มีหลายประเภทแตกต่างกัน อีกทั้ง digital assets ไม่ได้มีเพื่อการลงทุน หรือเก็งกำไรแต่เพียงอย่างเดียว และทุกแบบก็ไม่ได้หมายความว่าทำงานอยู่บน Blockchain เสมอไป ยังมี digital asset แบบอื่นๆ ที่เราควรทำความรู้จักกันอีกด้วย

เนื้อหาวันนี้จะพาไปรู้จักกับ digital assetset ประเภทต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เพียงเท่านี้ เพียงแต่ในปัจจุบัน digital assets ต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นที่รู้จักและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

ประเภทของ Digital assets

1. Cryptocurrencies : หลายคนคงรู้จัก digital assets ผ่าน crypto currency ถ้าให้ยกตัวอย่างที่คุ้นหูก็คือ bitcoin หรือ ethereum โดย digital asset ประเภทนี้จะใช้ blockchain ทำการเก็บบันทึกธุรกรรมต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกรรมเหล่านั้นจะไม่ถูกแก้ไขหรือลบทิ้งในภายหลัง รวมทั้งธุรกรรมที่เกิดขึ้นก็ได้รับการยอมรับจาก blockchain Network เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในเรื่องของราคา และการประเมินมูลค่าต่างก็มีความผันผวนเป็นอย่างมาก และแม้ว่าจะถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ที่ต่อต้าน และอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่รู้จัก และเข้าไม่ถึงอีกด้วย

2. Security Tokens : เป็น Token ที่สร้างขึ้นมาบนระบบดิจิตอล โดยผู้ที่ถือครองก็เปรียบได้เหมือนกับเป็นเจ้าของการลงทุนที่ Token ตัวนั้นได้อ้างอิงในสินทรัพย์ต่างๆ อีกที โดยรูปแบบการลงทุนที่อยู่เบื้องหลังก็อาจจะเป็น หุ้น, พันธบัตร, กองทุน, อสังหาริมทรัพย์ หรืออื่นๆ

3. Utility Tokens : เป็น Token ที่สร้างขึ้นมาบนระบบดิจิตอลเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีความหมายเปรียบเสมือนการลงทุน มักจะถูกใช้เพื่อแสดงสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของ ที่ผู้สร้างได้กำหนดเอาไว้มากกว่า เช่น point สะสม ในรูปแบบ digital, หรือ token ที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการที่ถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา เป็นต้น

4. Non-Fungible Tokens (NFTs) : ก็ถือว่าเป็น Token ประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน หลายคนมักจะได้ยินในระยะหลังๆ โดยความแตกต่างจาก Token อื่นๆ ก็คือทุกๆ Token จะถือว่าไม่มีความซ้ำกันเลยกับ Token อื่น ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะซ้ำกันกับ Token อื่นก็ตาม แต่ว่า หมายเลขเฉพาะ ของแต่ละ Token จะแตกต่างกันเสมอ ถ้าพูดให้เข้าใจก็คือ แม้ว่าเราจะ copy digital file แบบเดียวกันไปสร้างเป็น 2 NFT แต่ว่า เวลาโอน ให้คนอื่น แต่ละ NFT ก็จะมีความแตกต่างกันในแง่ของวันเวลาที่สร้าง และหมายเลขเฉพาะของแต่ละ NFT อยู่ดี จะว่าไปก็เหมือนจะเป็นเอกสารแสดงความจำเพาะเสียมากกว่า ซึ่งความแตกต่างกับ utility Token ก็คือไม่สามารถใช้สะสมรวมกันได้ เพราะทุก Token มีความแตกต่างกันทั้งหมด (แม้ว่าหน้าตา หรือสิ่งที่ represent จะดูเหมือนกันก็ตาม)

5. Stablecoins : จริงๆ แล้วก็ถือว่าเป็น Token ประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกัน แต่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ทดแทนกับสกุลเงินบางสกุลโดยที่มีการค้ำประกันการสร้าง Token นั้นๆ ด้วยสกุลเงินหรือสินทรัพย์จริงๆ ที่ตีมูลค่าได้อยู่เบื้องหลัง เช่น 1 USDT มีค่าเท่ากับทรัพย์สิน ทั้งในรูปของเงิน US Dollar และพันธบัตรการลงทุนอื่นๆ เทียบมูลค่าได้ 1 US Dollar เท่าเทียมกัน เป็นต้น ข้อดีของ Token ประเภทนี้ก็คือการผันผวนของราคาหรือมูลค่าค่อนข้างต่ำ พอที่จะสามารถใช้เป็น mean of payment ได้ (เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา)

6. Central Bank Digital Currencies (CBDCs) : digital currencies ที่สร้างโดยธนาคารกลาง ของแต่ละประเทศ ปัจจุบันหลายประเทศอยู่ในสถานะที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยด้วยมีการทดลองใช้ในกลุ่มเล็กๆแล้ว(ปัจจุบันมีการทดสอบใช้งานในกลุ่มปิด) ซึ่งเทคโนโลยีที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอาจจะใช้หรือไม่ใช้ blockchain ก็ได้ไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการพัฒนาและความเหมาะสมรวมถึงการนำไปใช้ของแต่ละประเทศอีกที

Digital Assets ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อกลาง สำหรับการชำระมูลค่าแทนเงินได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้นำ Digital Assets ใดๆ มาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดกระดานซื้อขาย digital assets ในหลายๆ ประเภทในประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่ก็เน้นเพื่อการซื้อขายเพื่อสร้างสภาพคล่อง และเก็งกำไรเสียมากกว่า (ปัจจุบันอนุญาตให้ซื้อขาย Cryptocurrencies, Stablecoin ได้ และมีการห้ามซื้อขาย NFT, Utility token ผ่าน exchange)

เราจึงเห็นว่าในปัจจุบันการที่จะนำ digital assets มาใช้แลกสินค้าและบริการโดยตรงยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยนัก ด้วยต้องปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง

ทั้งนี้ในอีกหลายประเทศก็มีประกาศเช่นเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย คือห้ามนำ digital assets มาใช้แทนเงิน(หรือที่เรียกว่า การใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย) แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่เริ่มยอมรับให้นำ digital assets บางประเภทมาใช้แทนเงินได้ เช่น ประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศแรกที่ยอมรับการนำ cryptocurrency มาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เลย

ตัวอย่างการนำ Security tokens  ไปใช้

เราสามารถนำมาใช้ได้หลายรูปแบบขอยกตัวอย่างในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถประยุกต์ใช้ Security Token ได้ดังนี้

1. Tokenization : คือการแบ่งปันความเป็นเจ้าของ ให้กับผู้ที่ถือ Token ตามสัดส่วน Token ที่ถือครอง
2. Issuance : การสร้างสิทธิ์ และ ขายสิทธิ์ เพื่อให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมในการลงทุน ผ่านทางทำ STO (Security token offering)
3. Trading : เพื่อสร้างสภาพคล่อง ดังนั้นอาจจะเปิด Trade ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนกันเองได้ระหว่างผู้ที่ถือครอง ผ่านทาง Platform ที่ได้กำหนดเอาไว้อีกทอดหนึ่ง
4. Revenue sharing : คือการแบ่งปันกำไรไปยังผู้ที่ร่วมเป็นเจ้าของ ตามสัดส่วนของ Token ที่ได้ครอบครองอยู่นั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่า กระบวนการทำงาน ก็ดูจะคล้ายคลึงกับการซื้อขายหุ้นอยู่ไม่น้อย สำหรับประเทศไทย กลต ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า หากจะทำ Security token offering ก็จะต้องทำภายใต้กรอบข้อกำหนดของ ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ (เหมือนอย่างหุ้น) นั่นเอง

และถ้าจะเสริมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับการประยุกต์ใช้ เราสามารถประยุกต์ แปลงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดิน สร้างให้เป็น NFT ได้ โดยจะถือได้ว่า ใครที่ได้ครอบครอง NFT นั้นก็คือถือสิทธ์ความเป็นเจ้าของบนที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างนั้นได้เลย เพียงแต่ว่าการทำแบบนี้นั้น ระบบราชการไทยยังไม่ยอมรับให้ใช้งานจึงจะยังไม่สามารถทำได้จริงในปัจจุบัน

ตัวอย่างการนำ Utility tokens  ไปใช้

ตัวอย่างจะมีค่อนข้างหลากหลายเลย ไม่ว่าจะเป็น

1. Game : ใช้เป็นเงินจำลองในเกมได้เลย
2. Loyalty program : ใช้แทนแต้มสะสมของ program ได้
3. Subscription : เราสามารถขาย Utility token เพื่อให้ลูกค้านำ Utility token นั้นมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการได้อีกทอดหนึ่ง
4. Crowdfunding : ก็ใช้เป็นตัวแทนมูลค่าสำหรับการระดมทุนให้ในแต่ละ project ได้ โดยผู้ลงทุนจะต้องใช้เงินลงทุนแลกเป็น Token ที่ได้รับ และนำ Token ไประดมทุนในโครงการต่างๆอีกทอดหนึ่ง
5. Supply chain management : เราสามารถสร้าง Utility Token เพื่อใช้ในกระบวนการจัดการ supply chain ได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้เลย โดยจะมั่นใจได้ว่า ข้อมูลทุกอย่างที่บันทึกใน blockchain นั้นจะมีความถูกต้องและตรงไปตรงมาอย่างแน่นอน

ตัวอย่างการนำ NFT ไปใช้

1. Digital Art : ก็คือการทำงานผลงานทางศิลปะ ซึ่งไม่จำกัดเพียงรูปภาพ แต่อาจจะเป็น เพลง vdo หรืออื่นๆ บรรจุใน NFT เพื่อให้ใช้แสดงสิทธ์ความเป็นเจ้าของได้
2. Virtual real estate : เราน่าจะเคยเห็นเมืองจำลองกันมาบ้างแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา มีการโปรโมทเมืองที่เป็นรูปแบบ VR เราสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมา แล้วบรรจุใน NFT จากนั้นนำ NFT ไปใส่ในเมืองจำลอง
3. Game : item ในเกม หรือ องค์ประกอบต่างๆ เช่น อาวุธ ชุด เกราะ
4. กีฬา : ตัวอย่างคือนำมาใช้บรรจุรูปภาพในจังหวะที่สวยๆ ของนักกีฬาที่ดังๆ
5. Virtual Ticket : คือการใช้เป็นตั๋ว Electronic ได้เลย ซึ่งจะไม่มีใครสามารถปลอมแปลง และใช้งานซ้ำได้ เนื่องจาก ตั๋วทุกใบ มีความเป็น unique ทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถใช้ตรวจสอบ และติดตามการโอนย้าย แลกเปลี่ยนได้ตลอดอีกด้วย

ซึ่งทั้งหมดเราก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้โดยง่าย เพราะเป็น digital 100% โดยอาจจะเอา stable coin , cryptocurrencies, utility token มาเป็นสื่อกลางแทนมูลค่าสำหรับการแลกเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งก็ย่อมได้

สำหรับตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Digital assets ทั้ง cryptocurrencies, Stablecoin , CBDC นั้นค่อนข้างชัดเจน และตรงไปตรงมาอยู่แล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวในเนื้อหานี้อีก

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด