cryptocurrency-risk

Digital assets ทรัพย์สินที่เสี่ยง และไม่เสี่ยง ในเวลาเดียวกัน

หากเราพูดถึง Digital Assets และความเสี่ยง ก็คงต้องแตกออกมาเป็นแง่มุมต่างๆ กันหลายๆ มุมหน่อย เพื่อจะได้พิจารณาได้อย่างถูกต้อง ว่าแบบไหนที่เรียกว่าเสี่ยงมาก หรือ เสี่ยงน้อย จากปัจจัยอะไรบ้าง เพราะ Digital Assets ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงสูงเสมอไปในทุกๆด้าน

ราคา หรือมูลค่าทรัพย์สิน

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ จะมีความเสี่ยงสูงจากราคาที่ผันผวนได้ในช่วงกว้าง อย่างช่วงครึ่งปีหลังนี้ ราคา assets หลายตัว ลดลงเกือบ 99% เลยและอีกหลายตัวก็อยู่ในระดับ ลดลงเกือบๆ  80% จากมูลค่าสูงสุด

และนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้ใช้ Cryptocurrency เพื่อชำระค่าสินค้า และบริการ ไม่ใช่เค้าเป็นห่วงว่ามันจะยุ่งยาก หรือ ระบบต่างๆ อาจจะยังไม่พร้อม แต่หากเป็นเพราะ ราคาที่มันสวิงได้สูงมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมันจะส่งผลกระทบกับ คนที่ถือ cryptocurrency เพื่อเตรียมจะใช้ชำระค่าสินค้า เช่น วันนี้เตรียม BTC เอาไว้ มูลค่า 1 หมื่นบาท จะจ่ายซื้อของ วันพรุ่งนี้ นอนไปตื่นนึง เหลือ 8000 บาท อะไรแบบนี้ และ ผู้ประกอบการ ที่มีหน้าที่ รับและแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าเงิน Fiat พร้อมๆ กันเลย

เรื่องนี้ จึงถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างปฏิเสธ ไม่ได้เลย อีกทั้ง ปกติตลาดหุ้นไทย ที่มีความผันผวนสูง วันละ 1-3% ก็ถือว่า น่าตื่นเต้นมากแล้ว และมี circuit break หากแตะ 10% ในวันเดียวกัน แต่กับตลาด Digital Assets ใดๆ นั้น ราคาขึ้นวันละ 1000% หรือลงวันละ 99% ก็มีให้เห็นเป็นปกติแล้ว แบบนี้ ถ้าจะไม่มองว่ามันเป็นความเสี่ยง ก็คงจะไม่ได้แน่นอน

การเก็บรักษาเพื่อคงจำนวน

Digital Assets ถือว่าเป็น ทรัพย์รูปแบบใหม่ ที่เราสามารถเอามาเก็บไว้ได้ด้วยตัวเอง จะปลอดภัยสูงที่สุด ซึ่งแตกต่างจากทรัพย์ในโลกปัจจุบัน ที่เราคิดว่า ฝากธนาคาร หรือ ตู้ safe ธนาคาร จะให้ความปลอดภัยที่สูงที่สุด

ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะ Technology blockchain ที่ทำงานเบื้องหลังนั้น ถูกออกแบบมา ให้ข้อมูลถูกเก็บใน blockchain ที่กระจายการเก็บ และ ไม่มีคนที่สามารถทำตัวมีอำนาจเด็ดขาด ในการเข้าถึงธุรกรรมใดๆ ได้ นอกจากเจ้าของเพียงคนเดียว มาตั้งแต่แรก จึงถือได้ว่า secure by design เลย

ดังนั้นเรื่องนี้ จึงถือว่า มีความเสี่ยงต่ำมากๆ ในการที่เรานำ digital assets มาเก็บไว้ที่ตัวเอง

โดยข้อแนะนำก็คือ ต้องเก็บทรัพย์สินไว้บน Crypto wallet ที่เราคือคนเดียวที่ครอบครอง seed word เท่านั้น (self-custodial wallet) และ จะต้องเก็บบน Network ที่เป็นต้นฉบับของ Coin/Token ตัวนั้นด้วย เช่น เรามี Bitcoin ซึ่ง Bitcoin ถูกสร้างขึ้นบน Bitcoin Blockchain Network ดังนั้น เราก็ต้องเก็บ Bitcoin บน bitcoin network ด้วยเช่นกัน และ Ethereum Token ที่ถูกสร้างบน Ethereum blockchain network เราก็ต้องเอามาเก็บบน Ethereum blockchain network ด้วย แบบนี้ จะปลอดภัยมากที่สุด

จริงอยู่ว่า เราก็เก็บ BTC (Bitcoin) บน Ethereum blockchain network ได้เหมือนกัน แต่เราต้องเข้าใจว่า นั่นคือการทำงานของ Smart contract บน Ethereum blockchain network เท่านั้น ตัว Bitcoin จริงๆ ไม่ได้เก็บอยู่บน Ethereum blockchain network แต่อย่างใด (เรื่องนี้ ต้องใช้ความเข้าใจเรื่อง smart contract ในการสร้าง bitcoin บน ethereum network ว่า ทำไมเราถึงเชื่อถือได้ ควบคู่ด้วยแต่เดี๋ยวจะยาวไป อย่างไรก็ดี นั่นเป็นการสังเคราะห์ขึ้นเท่านั้น bitcoin จริงๆ จะยังอยู่ได้แต่ใน Bitcoin network เท่านั้น)

ผู้ให้บริการ

ล่าสุด Exchanges ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้เลิกให้บริการ และยื่นล้มละลายกระทันหัน หลังจากมีข่าวลือเพื่อให้ย้ายทรัพย์สินออกเพียงแค่ 2 วัน ย่อหน้าข้างบนถึงได้แนะนำให้เก็บไว้ที่ตัวเองบน blockchain network เท่านั้น

และนี่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง ที่ทำให้เราต้องทบทวนการใช้และเก็บรักษา Digital Assets กันใหม่ เพราะหลายผู้ให้บริการในปัจจุบัน ต่างให้บริการโดยไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ แม้จะเป็นผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ๆ เบอร์ต้นๆ ของโลกก็ตาม

ที่เป็นแบบนั้น ไม่ใช่เพราะเค้าจ้องจะเอาเงินคุณ (หรือบางเจ้าอาจจะคิดอย่างนั้นจริงๆ เราก็ไม่มีทางรู้?) แต่เพราะ Digital Assets เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกมาสิบกว่าปีเท่านั้น ทำให้กฏหมายที่เกี่ยงข้องกับการเงินการลงทุน ที่บังคับใช้กันมานานเป็นร้อยปีแล้ว ต่างปรับตัวตามไม่ทัน ทำให้มันไม่ครอบคลุมนั่นเอง

การจะเอากฎหมาย ที่ใช้กับระบบการเงินปัจจุบันมาใช้งานกับ Digital Assets จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะ พฤติกรรมหลายอย่างมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ภาครัฐ สามารสั่งอายัดเงิน ที่พิจารณาแล้ว น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ใน Blockchain ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ โดยเฉพาะกับ Bitcoin ที่เป็น unsensorchip อย่างแท้จริง นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมต้องมีการปรับปรุงกฎหมายก่อน ถึงจะบังคับใช้งานได้

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการนี่แหล่ะ ที่เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง ที่เราต้องระมัดระวัง โดยแนวทางที่ควรจะเป็นคือ อย่าฝากทรัพย์สินใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน Fiat หรือ Digital Assets เอาไว้กับผู้ให้บริการโดยเด็ดขาด ถ้าจะมี ก็ให้มีเพื่อความจำเป็น ในะระยะสั้น จำนวนน้อยที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ เช่น มีเพียงพอสำหรับการ trading เท่านั้น แต่ก้อนใหญ่เราเก็บอยู่บน Blockchain network แล้วเท่านั้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

มิจฉาชีพ

ไม้ว่าจะที่ใดในโลก ระบบใดๆ บนโลก ต่างก็มีมิจฉาชีพกันทุกที่ ดังนั้น Digital Assets ก็ไม่เว้นด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวของเรื่องนี้ ก็คือ เป็นการอาศัยช่องว่างทางความรู้ รวมกับความโลภของผู้คน จึงทำให้หลอกลวงได้ง่ายขึ้น

เพราะอาศัยความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจอย่างดีเพียงพอ ของผู้ใช้งาน ทำให้สร้างช่องว่างต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงตรงๆ หรือว่าใช้เทคนิคชั้นสูง ซึ่งก็มีทั้งแบบที่แนบเนียน และไม่แนบเนียน โดยในแบบที่แนบเนียน สามารถหลอกคนที่มีประสบการณ์มานานหลายปีได้ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้สึกระแคะระคายได้เลย จนรู้ตัวอีกที ก็เสียทรัพย์สินเหล่านั้นไปแล้วนั่นเอง

อำนาจการควบคุมโดยบุคคลอื่น

เช่น การยึด/อายัดทรัพย์, การโอน/เคลื่อนย้ายทรัพย์สิน โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าของ ในแง่มุมนี้ ต้องบอกว่า ความเสี่ยงต่ำมาก หรือ เกือบจะไม่มีความเสี่ยงเลย ถ้าทรัพย์สินเราได้จัดเก็บอยู่บน Blockchain network ที่เราคือคนเดียว ที่เข้าถึงและสั่งการ wallet crypto นั้นได้ เว้นเสียแต่ว่า blockchain network นั้น สามารถถูกควบคุมได้จากใครบางคนอีกชั้น อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน Terra blockchain network และ Binance Smart Chain network (BSC) ที่ผู้มีอำนาจสูงสุด สามารถสั่ง pause network เป็นการชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคนใช้บริการได้ทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น เค้าก็ยังไม่มีอำนาจในการสั่งโอนย้าย หรือ อายัดอยู่ดี ยกเว้น digital assets บางตัว ที่มีเจ้าของ หรือ ผู้สร้าง ได้ออกแบบส่วนการอายัดเอาไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เช่น USDT , USDC ต่างก็มี case ที่ถูกอายัดเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้วด้วยเช่นกัน แต่เหตุการณ์เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้นกับ Bitcoin ได้เลย เพราะไม่มีกระบวนการทำงานในส่วนนี้

แต่เมื่อไร ที่เราใช้บริการของผู้ให้บริการโดยการเอาทรัพย์สินเราไปฝากไว้ที่ผู้ให้บริการ เมื่อนั้น เราก็จะสูญเสียอำนาจตรงนี้ไปทันที เพราะเค้าจะทำอะไรกับทรัพย์สินเราก็ได้ อย่างที่ได้เล่าไปแล้วในย่อหน้าบนๆ

ในหัวข้อนี้ จึงมีทั้งเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ขึ้นอยู่กับ Digital Assets ที่เรามีอยู่ในมือ และวิธีการจัดเก็บ ซึ่งเราในฐานะผู้ใช้งานมีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะสามารถเก็บได้อย่างปลอดภัยที่สุด และมีความเสี่ยงต่ำที่สุด

 

และทั้งหมดนี้ ก็คือ แง่มุมของความเสี่ยงใน Digital Assets ในด้านต่างๆทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าบางแง่มุม ก็มีความเสี่ยงที่น้อยกว่าทรัพย์สินปัจจุบันเสียอีกด้วย

อมรเดช คีรีพัฒนานนท์

กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
Co-Founder
บริษัท ออมแพลทฟอร์ม จำกัด